เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ตัณหา ในคำว่า นรชนเหล่าใด กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมด
อาสวะ เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

ว่าด้วยปริญญา 3
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว อธิบายว่า กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา 3 คือ
1. ญาตปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก)
2. ตีรณปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา)
3. ปหานปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นละ)
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์กำหนดรู้ตัณหา คือ รู้ เห็นว่า “นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา
นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา” นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาตัณหา คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์ ... เป็นโรค ... เป็นดุจหัวฝี ...
เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีตัณหาอีก สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในตัณหาเสีย ตัณหานั้นเธอ
ทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้ว จักถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้” นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา 3 อย่าง
เหล่านี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :210 }